วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559

10 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

10 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก


1.   มะเร็งต่อมลูกหมากมีอาการอะไรบ้าง?
      คนไข้มะเร็งต่อมลูกหมากอาจจะไม่มีอาการอะไรเลย แต่ในกลุ่มบุคคลที่มีอาการอาจจะมีอาการดังนี้
          - อาการของระบบทางเดินปัสสาวะ
        1. ไม่สามารถถ่ายปัสสาวะได้
        2. ปัสสาวะต้องเบ่งนาน และปัสสาวะขัด
        3. ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะเวลากลางคืน
        4. ปัสสาวะอ่อนแรง ไม่พุ่ง
        5. อาจมีอาการปวด แสบ ระหว่างการถ่ายปัสสาวะ
              - มีปัญหาต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศ
- มีเลือดปนในปัสสาวะหรือปนกับอสุจิ
- อาจพบได้ว่ามีอาการปวดบริเวณหลังส่วนล่างหรือต้นขา
- ส่วนใหญ่แล้วมีโรคหลายโรคที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวข้างต้น โดยที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น ต่อมลูกหมากโต  ต่อมลูกหมากอักเสบ หรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ ผู้ป่วยชายคนใดที่มีอาการดังกล่าว ควรบอกแพทย์เพื่อทำการสืบหาโรคต่อไป


2.            ความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากมีอะไรบ้าง?
ในปัจจุบันไม่มีใครรู้ว่ามะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากอะไร เรายังไม่สามารถบอกได้ว่าทำไมบางคนถึงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ในขณะที่อีกคนไม่เป็น
 มีการศึกษาพบว่ามีองค์ประกอบบางอย่างที่มีผลต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก
                 1. อายุ :เราพบโรคนี้ในคนสูงอายุส่วนใหญ่มากกว่า 65 ปี ในอายุต่ำกว่า 45 ปี เราพบจำนวนผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยมาก
  2. ประวัติครอบครัว : ถ้ามีพ่อ, พี่ชาย หรือน้องชาย เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จะทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้น
  3. เชื้อชาติ : มะเร็งต่อมลูกหมากพบมากในคนแอฟริกันมากกว่าคนผิวขาว แต่จะพบได้น้อยในคนเอเชีย
  4. มีเซลล์ที่เปลี่ยนแปลงในต่อมลูกหมาก : ถ้าเนื้อเยื่อในต่อมลูกหมากมีลักษณะ high-grade prostatic ntraepithelial neoplasia (PIN) พบว่าอาจทำให้พบมะเร็งต่อมลูกหมากสูงขึ้น
  5. อาหาร : มีการศึกษารายงานออกมาว่าการกินอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ไขมันสัตว์มาก มีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมากกว่าพวกกินอาหารจำพวกพืชผัก

3.              ถ้าไม่มีอาการ ควรเริ่มตรวจทางทวารหนัก และตรวจค่า PSA ตั้งแต่อายุเท่าไหร่?
บางครั้งโรคมะเร็งต่อมลูกหมากไม่มีอาการ ดังนั้นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากไม่มีอาการ ดังนั้นการสืบค้นโรคนี้มีความจำเป็นโดยเฉพาะในผู้ป่วยมีประวัติมะเร็งต่อมลูกหมากในเครือญาติหรือในผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป

4.              ค่า PSA สูงจากภาวะใดได้บ้าง?
ปัจจุบันเรามี การเจาะเลือดดูค่า PSA เพื่อช่วยในการคัดกรองคนไข้ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ทำให้เราพบคนไข้ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรกมากขึ้น ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยทั่วไป ค่า PSA ที่สูงนอกจากจะเกิดจากมะเร็งต่อมลูกหมากแล้วยังเกิดได้อีกหลายสาเหตุเช่น โรคต่อมลูกหมากโต โรคต่อมลูกหมากอักเสบ การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ การใส่สายสวนปัสสาวะ โดยทั่วไปถ้าค่า PSA สูงเกิน 10 ng/dl โอกาสตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากมากกว่า 50 % ค่า PSA 4-10 ng /dl โอกาสพบ มะเร็งต่อมลูกหมาก ได้ 20- 30% โดยทั่วไปสำหรับในคนไทยทางแพทย์จะใช้ ค่ามากกว่า 4 ng/ml


5.              เป็นต่อมลูกหมากโตแล้วจะกลายเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่?
   โดยทั่วไปแล้วโรคต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมากมักเกิดในผู้ชายสูงอายุ และอาการของโรคทั้ง 2 กลุ่มนี้คล้ายกันมากทำให้การตรวจค้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่อย่างไรก็ตามโรคทั้ง 2 กลุ่มนี้เป็นคนละชนิดกัน และไม่มีการเปลี่ยนสภาพจากต่อมลูกหมากโตไปเป็นมะเร็งได้ แต่เราอาจพบร่วมกันได้ครับ

6.              เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากแล้วสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?
                 โรคมะเร็งหลายชนิดถ้าพบในระยะเริ่มแรกและสามารถหายขาดได้ในโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ก็เป็นเช่นเดียวกันโดยเฉพาะในระยะ1 และ ระยะ 2

7.              มะเร็งต่อมลูกหมากมีวิธีการรักษาอย่างไร?
                 การรักษาสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มคือ
1. การผ่าตัด
2. การฉายรังสี
3. การใช้ฮอร์โมน
4. ติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด
             7.1  การผ่าตัดรักษา
-  การผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยเอาต่อมลูกหมากออก ซึ่งใช้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรก (ระยะ1 และ2)
        1.1 การผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยการเปิดผ่านหน้าท้อง
1.2      การผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยการเปิดผ่านบริเวณฝีเย็บ
1.3      การผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยการส่องกล้องผ่านผนังหน้าท้อง
1.4      การผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยการส่องกล้องผ่านผนังหน้าท้องโดยการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด

                  ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการผ่าตัด
                  - ผู้ป่วยอาจมีปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศ
           - ผู้ป่วยอาจมีการปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะราด ในระยะแรกประมาณ 1 ถึง 2 เดือนหลังการผ่าตัด ต่อมาอาการจะค่อยๆ หายไป
                  - อาจมีการปัสสาวะไม่ออก ถ้ามีการตีบ แคบของท่อปัสสาวะ
                  7.2 การฉายรังสี
                การฉายรังสีมีการใช้ในรายมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรก แทนการใช้ผ่าตัดในรายที่ผู้ป่วยปฏิเสธการผ่าตัด แต่เรามักนิยมใช้การฉายรังสีในรายที่มีมะเร็งต่อมลูกหมากหลงเหลือจากการผ่าตัด หรือใช้ในรายยะยะท้ายๆ ของโรค เพื่อช่วยลดอาการปวด
                มีการฉายแสง 2 วิธีที่ใช้ในมะเร็งต่อมลูกหมาก
                1. การฉายรังสีจากภายนอกร่างกาย โดยผู้ป่วยจะได้รับรังสีจากเครื่องกำเนิดรังสีภายนอกร่างกายไปที่    ต่อมลูกหมาก
                2. การฝังแร่รังสีเข้าไปในเนื้อต่อมลูกหมาก โดยการใช้แร่รังสีซึ่งเป็นเม็ดเล็กปริมาณหลายเม็ดขึ้นกับขนาด
 ของต่อมลูกหมากฝังเข้าไปในเนื้อต่อมลูกหมาก


                ผลข้างเคียงจากการฉายรังสี
                - ผลข้างเคียงของการฉายรังสีขึ้นอยู่กับปริมาณของรังสีที่ได้รับ ท่านจะรู้สึกเพลียหลังการฉายแสง ซึ่งท่านควรจะพักผ่อนมากๆ
                - การฉายรังสีจากภายนอก ท่านอาจจะมีอาการท้องเสีย และมีปัสสาวะบ่อยและแสบขัด ผิวหนังของท่านอาจจะมีอาการเจ็บปวด และแดงขึ้น อาจจะมีขนร่วงเฉพาะที่ได้
                - การรักษาโดยการฝังแร่รังสี อาจจะทำให้มีปัสสาวะเล็ด และมีเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ แต่พบได้ไม่บ่อยนัก

                7.3 การรักษาด้วยฮอร์โมน
                การใช้ฮอร์โมนในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก มักจะใช้เป็นการรักษาเพิ่มเติมหลังการผ่าตัด หรือในรายที่มะเร็งต่อมลูกหมากระยะแพร่กระจาย
                หลักการใช้ฮอร์โมนในการรักษาคือการลดหรือกำจัดฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งจะไปทำให้มะเร็งต่อมลูกหมากฝ่อเล็กลง หรือโตช้าลง การกำจัดฮอร์โมนมี 2 วิธีคือ
                1. การใช้ยาต้านฮอร์โมน : โดยมียาต้านทำให้อัณฑะไม่สามารถสร้างฮอร์โมนเพศชาย และยาต้านการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศชาย
                2. การผ่าตัดเอาอัณฑะออก   ซึ่งอัณฑะเป็นแหล่งใหญ่ในการสร้างฮอร์โมนเพศชาย โดยมีบางส่วนซึ่งเป็นส่วนน้อยมาจากต่อมหมวกไต
                - แพทย์ใช้การรักษาด้วยการลดปริมาณฮอร์โมนเพศชายในกระแสเลือดเพื่อควบคุมและลดการกระจายของมะเร็งต่อมลูกหมากไปยังอวัยวะต่างๆ มะเร็งต่อมลูกหมากส่วนใหญ่จะไม่โตขึ้นเป็นระยะเวลาหลายปี
                - ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นคือ มีการคลื่นไส้อาเจียน มีเต้านมที่โตขึ้น มีความต้องการทางเพศน้อยลง และอาจมีอันตรายต่อตับได้ แต่พบได้ไม่บ่อยนัก และในบางครั้งอาจทำให้กระดูกมีความแข็งแรงน้อยลง

                 7.4 การเฝ้าดูโรคอย่างใกล้ชิด
-                   การที่แพทย์ตัดสินใจเลือกวิธีนี้ เพราะโดยธรรมชาติของโรคนี้ การขยายตัวของมะเร็งจะช้า โดยถ้าเจอมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกต้องใช้เวลาเกือบ 10 ปี มะเร็งถึงอาจจะลุกลามทำอันตรายต่อผู้ป่วยได้ ทำให้แพทย์เจ้าของไข้ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างจะใช้การผ่าตัดรักษาในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก ในผู้ป่วยอายุมากๆ หรือมีโรคประจำตัวที่รุนแรงและเสี่ยงต่อการผ่าตัดหรือดมยาสลบ


8.      การผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากแบบส่องกล้องมีข้อดีกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิมอย่างไร?
                        ในปัจจุบันการผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยการส่องกล้องผ่านผนังหน้าท้อง เป็นไปอย่างแพร่หลาย ซึ่งอาจมาแทนที่ด้วยการผ่าตัดแบบแผลเปิด ซึ่งเราพบว่ามีข้อดีหลายอย่าง เช่น การเสียเลือด การเจ็บปวด น้อยกว่า และด้านแผลก็มีขนาดเล็กกว่า นอกจากนี้ผลจากการผ่าตัดผ่านกล้อง การเก็บเส้นประสาท Cavernous ตลอดจน กล้ามเนื้อหูรูดมีการบาดเจ็บน้อยกว่า


9.การผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากโดยใช้หุ่นยนต์คืออะไร
                        การผ่าตัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก โดยการใช้กล้องเจาะผ่านหน้าท้อง ซึ่งทำกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีมาตรฐาน ต่อมามีการใช้หุ่นยนต์มาช่วยผ่าตัด โดยใช้หุ่นยนต์ถือกล้อง และมีแขนกลของหุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด ทำให้แทนที่จะใช้มนุษย์ (แพทย์ผู้ช่วย) ถือกล้องทำให้การผ่าตัดเป็นไปได้ง่ายกว่าโดยที่แพทย์เหนื่อยน้อยลง และใช้เวลาในการผ่าตัดน้อยลง แต่ผลทั่วไปหลังจากการผ่าตัดด้วยกล้องเจาะผ่านหน้าท้องและผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วย ยังไม่แตกต่างกันด้านการควบคุมมะเร็ง และนอกจากนี้การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามไปด้วย

10.มะเร็งต่อมลูกหมากมีวิธีป้องกันหรือไม่?
อาการต่อมลูกหมากโตสามารถป้องกันได้  ถ้ารับประทานอาหารที่มีสารเหล่านี้แต่เนิ่น ๆ เป็นประจำ
       -  สังกะสี เป็นแร่ธาตุที่ช่วยสร้างฮอร์โมนเพศชาย มีมากในเมล็ดฟักทอง อาหารทะเล เช่น หอยนางรม
       -  ไลโคพีน เป็นสารในตระกูลแคโรทีนอยด์ มีมากในมะเขือเทศ ซอสมะเขือเทศ ฝรั่งขี้นก
       - เบต้าซิโตสเตอรอล มีสรรพคุณช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด และป้องกันต่อมลูกหมากโต พบมากในถั่วเหลือง จมูกข้าวสาลี น้ำมันข้าวโพด
       - วิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีมากในรำละเอียด น้ำมันรำ ธัญพืช ถั่วเหลือง ถั่วแดง ผักกาดหอม เมล็ดทานตะวัน งา น้ำมันถั่วลิสง แต่มะเร็งต่อมลูกหมาก เรายังไม่พบการวิจัยที่แน่นอนเกี่ยวกับการป้องกันการเกิดโรค แต่เราพบว่าการเกิดมะเร็งมักพบในกลุ่มคนที่มักบริโภคอาหารพวกเนื้อสัตว์มากกว่าพวกมังสวิรัติ
 เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย


โดยรองศาสตราจารย์นายแพทย์วิสูตร  คงเจริญสมบัติ
สาขาวิชาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี


ไม่มีความคิดเห็น: