โรคไต” ป้องกันได้ |
หลายคนคงคิดนะครับว่าชีวิตนี้มีกรรมที่ต้องคอยไปฟอกไต ล้างไต หรือขนาดต้องเปลี่ยนไต เพราะเมื่อไตสูญเสียประสิทธิภาพการ
ทำงานไป เราก็จำเป็นต้องหาวิธีอื่นๆ มาพยุงไตให้สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ เพื่อต่อชีวิตของเจ้าของไตนั้น
“ไต” มีหน้าที่อะไร
ก่อนที่จะรู้จักโรคไตเราควรที่จะทำความรู้จักกับอวัยวะที่มีชื่อว่า “ไต หรือ kidney” กันก่อนครับ
ไตเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายมนุษย์ที่มีความมหัศจรรย์และมีจำเป็นอย่างมากในการดำรงชีวิต คนปกติมีไต 2 ข้างวางอยู่บริเวณกลางหลังข้างละ 1 อัน ไตทำหน้าที่กลั่นกรองน้ำ เกลือแร่ และสารเคมีส่วนเกินที่ร่างกายไม่ต้องการ พร้อมกับทำการคัดหลั่งของเสียออกจากร่างกาย
ในรูปของน้ำปัสสาวะผ่านกรวยไตลงไปเก็บกักในกระเพาะปัสสาวะเพื่อให้พร้อมในการกำจัดทิ้งออกทางท่อปัสสาวะ
นอกจากนี้ไตยังทำหน้าที่ปรับสมดุลของสารน้ำ เกลือแร่ในร่างกายและทำการสร้างสารและฮอร์โมนอีกหลากหลายชนิด ได้แก่ วิตามินดี ฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด และฮอร์โมนควบคุมความดันโลหิต เมื่อความบกพร่องเกิดขึ้นกับไตจนไตไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างสมบูรณ์ ในระยะแรกอาจพบความผิดปกติเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรง เช่นตรวจพบเพียงโปรตีนไข่ขาวรั่วในปัสสาวะจากการตรวจสุขภาพประจำปีโดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษาจนไตเสื่อมหน้าที่มากขึ้น จะเกิดภาวะที่เรียกว่า “ภาวะไตวายเรื้อรัง”
เมื่อไต เสียหน้าที่
ภาวะไตวายเรื้อรังในระยะนี้ยังสามารถแก้ไขให้ไตกลับคืนหน้าที่ได้หากได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ต่อเนื่องและเหมาะสม แต่หากปล่อยปละละเลยจนไตเสื่อมทุกหน้าที่อย่างสมบูรณ์ และถาวร จนเกิดภาวะที่เรียกว่า “ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย”
หนทางเดียวที่แพทย์จะสามารถรักษาชีวิตให้ได้ก็คือการบำบัด
ทดแทนไต เช่น การฟอกเลือด การฟอกไตทางช่องท้อง และการปลูกถ่ายไตใหม่ให้ แม้ว่าจะได้รับการปลูกถ่ายไตใหม่ ก็ใช่ว่าไตนั้นจะใช้งานได้เหมือนอย่างไตของคนปกติ เพราะไม่ใช่ไตที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิด ร่างกายต้องปรับตัวเข้ากับไตใหม่ ไตใหม่ที่ปลูกถ่ายมานี้ส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานเฉลี่ยไม่เกินสิบปี และเมื่อการเปลี่ยนไตสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจะต้อง
หลีกเหลี่ยงและระวังกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากไตใหม่ที่ปลูกถ่ายใหม่นั้นถือเป็นสิ่งแปลกปลอมของร่างกายที่กระตุ้นให้ภูมิต้านทานของร่างกายออกมาทำหน้าที่ต่อต้าน จึงจำเป็นต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจึงเสี่ยงต่อการเชื้อต่างๆ จากภายนอกได้ง่าย เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าวเข้ามาเยือนตัวคุณ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสนใจป้องกันตนเอง หมั่นตรวจสอบตัวคุณอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความสะอาดของทั้งเครื่องใช้ อาหาร และการสัมผัสกับแหล่งเชื้อโรคในที่ต่างๆ เช่น ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัด เป็นต้นสัญญาณเตือนภัย “ไตผิดปกติ”
ทางการแพทย์สามารถแบ่งความผิดปกติของไตได้เป็น 8 ประเภท ได้แก่ โรคเส้นเลือดฝอยที่ไตอักเสบ โรคเนื้อเยื่อไตอักเสบ โรคไตวายเฉียบพลัน โรคไตวายเรื้อรัง โรคติดเชื้อของไตและท่อทางเดินปัสสาวะ โรคความผิดปกติของท่อไตและถุงน้ำ โรคนิ่ว และโรคมะเร็ง
ในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งแต่ละประเภทมีต้นเหตุก่อโรคมากมาย และมีอาการทางคลินิกแตกต่างกันหลากหลายครับ เช่น ในระยะแรกของผู้ที่มีไตวายเรื้อรัง อาจมีอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ คันตามตัว ต่อมาอาจพบอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ตุ่มรับรสของลิ้นทำงานเปลี่ยนไป น้ำหนักตัวลด ชาปลายมือปลายเท้า ขี้หนาว ปวดแสบปวดร้อนบริเวณเท้า ปวดศีรษะ เป็นต้น อาการเหล่านี้ไม่ใช่อาการเฉพาะของโรคไตอย่างเดียวแต่พบได้ในอีกหลายโรค
ดังนั้นเราสามารถสังเกตความผิดปกติของไตตนเองได้โดยสังเกตสัญญาณเตือนภัย 6 ประการดังนี้คือ
1. การเปลี่ยนแปลงของการขับถ่ายปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปัสสาวะออกน้อยลง เป็นต้น
2. มีอาการแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะขัด สะดุดหรือมีเศษนิ่วปนออกมา
3. ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะมีสีน้ำล้างเนื้อหรือปัสสาวะเป็นฟอง
4. การบวมของใบหน้า ลำตัว ขา และเท้า
5. อาการปวดบั้นเอวหรือบริเวณสีข้าง (ไม่ต่ำกว่าเอวหรือไม่อยู่กลางหลัง)
6. ตรวจพบความดันโลหิตสูง
หากพบสัญญาณเตือนภัยข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ ขอแนะนำให้คุณรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนานจนสายเกินแก้ คุณที่รู้สึกว่าตนเองสุขภาพดีมาก ไม่เคยเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล บางคนเคยเป็นนักกีฬา ความแข็งแรงเหล่านี้ไม่ได้รับประกันว่าคุณจะไม่มีโอกาสเป็นโรคไต แม้จะไม่มีสัญญาณเตือนภัย ก็อาจจะมีโรคไตซ่อนเร้นในตัวแล้วก็เป็นได้ ทางที่ดีควรพิจารณา “เคล็ดลับ 10 ประการป้องกันการเกิดโรคไต” โดยเฉพาะคุณมีโรคประจำตัวบางอย่างที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไต เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเก๊าต์ (gout) โรคปวดเส้นหรือปวดกล้ามเนื้อที่ต้องรับประทานยาแก้ปวดเป็นประจำ เป็นต้น ยิ่งต้องปฏิบัติตามเคล็ดลับ 10 ประการอย่างเคร่งครัดนี้เลยครับ
1. หมั่นสนใจสุขภาพของตนเองและไปรับการตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี ซึ่งการตรวจสุขภาพนั้นมักรวมเอาการตรวจสุขภาพไตขั้นพื้นฐาน 3 ประการไว้ด้วย ได้แก่ การวัดความดันโลหิต การตรวจปัสสาวะ และการตรวจเลือดหาระดับของเสียในร่างกาย
(ครีอะตินีน) ซึ่งทั้งสามอย่างนี้บอกได้ขั้นต้นว่าคุณมีโรคไตซ่อนอยู่หรือไม่ สำหรับค่าใช้จ่ายในการตรวจชุดนี้ (ราคาปีพ.ศ. 2548) ใน
โรงพยาบาลของรัฐจะอยู่ที่ประมาณ 150 บาท และในโรงพยาบาลเอกชนหรือคลินิกจะประมาณ 300 บาท
2. เลือกอาหารที่มีคุณค่า สุกสะอาด และมีประโยชน์ หลีกเหลี่ยงการกินอาหารไขมันสูง ไม่กินโปรตีนมากจนเกินไปเพราะจะทำให้ไตเสื่อม และไม่กินอาหารน้อยไปจนเกิดภาวะขาดสารอาหาร หลีกเหลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง และอาหารรสจัด การกินเค็มมากไปจะทำให้เกิดอาการบวม หัวใจวาย ความดันโลหิตสูง และไตต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อกำจัดเกลือส่วนเกินออก กินผักและผลไม้ให้มากยกเว้นหมอสั่งห้าม ลดปริมาณอาหารมื้อเย็น โดยเฉพาะมื้อดึก ให้ความสำคัญกับอาหารมื้อแรกของวัน ในกรณีที่มีภาวะไตวายเรื้อรังควรถามหมอว่าคุณเป็นโรคไตเรื้อรังระดับใด กินอะไรได้บ้าง มากน้อยเพียงใด
3. ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 1.5-2 ลิตร หรือ 6-8 ถ้วยต่อวัน การดื่มน้อยไปจะทำให้ไตเสื่อม มากไปจะทำให้หัวใจวาย ควรเลือกเดินทางสายกลาง
4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเลือกออกกำลังกายอย่างเหมาะสมซึ่งสามารถกระทำได้ทั้งในคนปกติและผู้ที่เป็นโรคไต ได้แก่ การเดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิค หรือการออกกำลังกายอื่นๆ ที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง หากเลือกยกน้ำหนักไม่ควรยกน้ำหนักที่มากเกินไป นอกจากการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายสมบูรณ์และแข็งแรงแล้ว การออกกำลังกายจะสามารถลดระดับความดันโลหิตลงได้ ลดไขมันส่วนเกิน ทำให้นอนหลับง่ายขึ้นและช่วยควบคุมน้ำหนักตัว การออกกำลังกายที่ดีควรจะต้องทำการอบอุ่นร่างกายหรือเรียกว่า “วอร์มอัพ” ก่อนประมาณ 5-10 นาที ต่อด้วยการยืดกล้ามเนื้อ (stretching exercise) เป็นเวลา 5 นาที ตามด้วยการออกกำลังอย่าง
ต่อเนื่องข้างต้นอีก 5-30 นาที และจบด้วยการทำ breathing exercise และการทำ cool down อีก 5-10 นาที
แต่ละคนจะออกกำลังกายได้หนักเพียงใดเป็นเรื่องที่คาดคะเนได้ยาก โดยทั่วไปให้พิจารณาเริ่มต้นและจบลงทีละน้อยเพื่อให้ร่างกายปรับตัวได้ ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมจนไม่สามารถพูดได้เป็นคำๆ หรือไม่หายจากอาการเหนื่อยนานเกินกว่า 1 ชั่วโมงหลังพัก ไม่ควรออกกำลังกายเมื่อร่างกายไม่พร้อม เช่น มีไข้ หลังรับกินอาหารอิ่มใหม่ๆ เพิ่งเปลี่ยนยาที่กิน หลังผ่านการฟอกเลือดมาใหม่ๆ หรือรู้สึกว่าร่างกาย
ไม่แข็งแรงพอ
5. พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน การนอนพักผ่อนที่ไม่เพียงพอจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นซึ่งมีผลกระทบทางอ้อมต่อไตทำให้ไตเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น
6. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ผู้ที่อ้วนเกินไปจะทำให้ไตทำงานหนัก ทำให้ไตเสื่อมหน้าที่เร็วขึ้น เพราะภาวะอ้วนจะทำให้โปรตีนรั่วในปัสสาวะเพิ่มขึ้นจากการกดทับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตทำให้ความดันภายในไตสูงขึ้น โปรตีนที่รั่วนี้จะเป็นตัวทำลายไต การเปลี่ยนแปลงนี้จะดีขึ้นถ้าน้ำหนักตัวลดลง จึงควรควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน
7. หลีกเหลี่ยงสารเสพติด รวมถึงบุหรี่และแอลกอฮอล์ นอกจากสารเสพติดจะทำลายสุขภาพโดยรวมแล้วยังทำลายไตโดยตรง การดื่มแอลกอฮอล์จะมีผลเสียต่อทั้งตับและไต โดยเฉพาะคนที่ป่วยโรคไตควรเลิกดื่มจะดีที่สุด นอกจากการสูบบุหรี่จะทำให้ร่างกายได้รับสารพิษมากกว่า 50 ชนิดแล้วยังพบว่าไตของผู้ที่สูบจะเสื่อมหน้าที่เร็วขึ้น 1.2 เท่า ผลกระทบดังกล่าวยังเกิดขึ้นได้กับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่แต่ไปอยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่
8. หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานๆ บ่อยครั้งที่คนเราต้องกลั้นปัสสาวะนานๆ เช่น การที่ต้องค้างเติ่งบนรถที่ติดกันเป็นแพ หรือเดินทางในรถโดยสารทางไกล แน่นอนครับถ้าจำเป็นจริงๆ คงจะหลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ แต่พบว่าในบางคนที่ชอบกลั้นปัสสาวะ ทั้งๆ ที่สามารถไปห้องน้ำได้ ที่พบบ่อยในปัจจุบัน ได้แก่ เด็กวัยรุ่นที่เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ พบว่าการกลั้นปัสสาวะนานๆ เป็นต้นเหตุให้เชื้อโรคแทรกซึมเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะและเกิดการอักเสบของท่อทางเดินปัสสาวะ ในบางรายทำให้เกิดโรคไตอักเสบเฉียบพลันได้
9. หลีกเลี่ยงกลุ่มยาที่อาจมีผลต่อไต เช่น ยาแก้ปวดข้อ ปวดเส้น ปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งมักจะเป็นยาในกลุ่ม “ยาเอ็นเสด (NSAIDs)” ซึ่งเป็นยาลดการอักเสบที่มีฤทธิ์แรงมาก แม้แต่ยาแก้อักเสบฆ่าเชื้อ ถ้าใช้ไม่ถูกวิธีหรือมีการแพ้ยา ก็อาจเกิดอันตรายต่อไตได้ เช่น ซัลฟาอาจตกตะกอนในไตทำให้ปัสสาวะไม่ออกได้ ผู้ที่มีการทำงานของไตบกพร่องจะต้องลดขนาดยาแก้อักเสบลง ดังนั้นควรปรึกษาหมอก่อนทุกครั้งที่กินยากลุ่มนี้โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคไต แม้แต่ยาแก้ปวดชนิดที่เป็นแอสไพริน และพาราเซตามอล หากใช้ติดต่อกันเกิน 10 วันอาจทำให้ไตเสื่อมได้ ถ้าจำเป็นต้องกินยากลุ่มนี้นานควรปรึกษาแพทย์โดยเฉพาะผู้ที่มีการทำงานของไตและตับบกพร่อง ขอแนะนำว่าอย่ากินยาใดๆ โดยไม่ปรึกษาหมอก่อนและไม่ควรลองยาแปลกๆ ที่มีผู้อื่นแนะนำ รวมทั้งสมุนไพรต่างๆ ถ้ากินยาแล้วมีอาการเปลี่ยนแปลงให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที อย่ารอให้ยาหรือสารพิษทำลายไตของคุณหมดแล้วจึงค่อยมาพบ ถึงตอนนี้การรักษาใดๆ ก็ไม่สามารถทำให้ไตของคุณฟื้นได้ แต่ต้องรับการฟอกไตทดแทนไปตลอดชีวิต
10. อย่าหลงเชื่อคำโฆษณา ในท้องตลาดมีการขายสารอาหารต่างๆ มากมายเพื่อบำรุงสุขภาพ อาหารเสริมเหล่านี้ทางองค์การอาหารและยา (อย.) ได้จัดเป็นอาหารไม่ใช่ยา ดังนั้นสามารถหาซื้อได้ทั่วไป และไม่จำเป็นต้องมาพบหมอก่อนซื้อ ในส่วนอาหารเสริมเหล่านี้ อย. ได้รับรองแล้วว่าคุณสามารถซื้อกินได้โดยไม่เกิดโทษ แต่ทางที่ดีก่อนจะซื้อ ควรอ่านฉลากอาหารที่แนบไว้ด้วยว่า อาหารเสริมมีข้อจำกัดหรือข้อควรระวังประการใดบ้าง อาหารเสริมบางอย่างมีเกลือผสมอยู่มาก ทำให้เกิดโทษได้ในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังและโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้พบว่าปัจจุบันมีอาหารหรือสารบางอย่างที่โฆษณาขายว่า “สามารถรักษาโรคไตอ่อนแอได้” คำโฆษณาเกินจริงเหล่านี้ ฟังดูน่าสนใจ เชื่อว่าผู้ที่มีโรคภัยไข้เจ็บอยู่แล้วโดยเฉพาะคนที่มีโรคที่หมอบอกว่ารักษาไม่มีทางหาย คงต้องอยากหายแน่นอน จึงอยากพบกับยาวิเศษ แต่คุณทราบไหมครับว่า สารหรืออาหารวิเศษที่ประกาศขายตามหนังสือรายสัปดาห์และหนังสือพิมพ์นั้น ไม่มีใครรับรองสรรพคุณ ถ้าเป็นยาดีจริง ทำไมไม่มีขายในโรงพยาบาล และถ้ายาเหล่านี้ดีจริงทำไมต้องขายทางไปรษณีย์ที่คุณไม่มีทางรู้จักผู้ขายเลย คุณต้องส่งเงินหรือโอนเงินไปให้ ผลจากการหลงเชื่อเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยเกิดโรคไตวายเรื้อรังมาแล้วนับไม่ถ้วนครับ
โดยสรุปที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเคล็ดลับสำหรับคนที่ไม่อยากเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย หรืออย่างน้อยถ้าทำได้ก็จะช่วยยืดอายุไตของคุณออกไปอีกยาวนาน การดูแลตนเองเป็นหลักสำคัญสำหรับทุกคนครับที่ยังไม่เป็นหรือเป็นโรคไตระยะแรกๆ ซึ่งหมอยังมีบทบาทไม่มากนักในการสั่งจ่ายยา แต่ในระยะแรกๆ นี้ คนทั่วไปมักจะละเลยคิดว่าตนเองยังสบายดีอยู่ แต่เมื่อใดที่โรคไตเป็นมากขึ้นก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมาพบกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในกรณีหลังนี้ หมออยากบอกท่านว่า “ช้าไปแล้ว” อย่างไรก็ตามในทุกระยะของโรคไตเรื้อรัง พบว่าการปฏิบัติตามเคล็ดลับ 10 ประการได้ผลดี
ทั้งสิ้น ไม่ว่ามากหรือน้อยก็ตามก็จะช่วยยืดอายุการทำงานไตของคุณให้ยาวนานขึ้น
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
คลิกปรึษาหรือสอบถาม
ขอบคุณผู้ร่วมธุรกิจและที่มาของข้อมูล
http://www.healthtoday.net/thailand/disease/disease_85.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น