ระวัง!!! เบาหวานภัยเงียบ |
เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่บ่อนทำลายร่างกายช้าๆ เหมือนไฟไหม้ฟาง ถ้าไม่รักษาให้ดีจะมีผลเสียต่ออวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย นับตั้งแต่ สมอง เส้นประสาท หัวใจ ตับไตไส้พุง แขนขา อวัยวะเพศ ฯลฯ ขณะนี้โรคเบาหวานกำลังระบาดเงียบๆ แบบโลกาภิวัตน์ เนื่องจากความอยู่ดีกินดีของพลโลก จากการวิจัยพบว่าในโลกนี้คนเป็นเบาหวานมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2000 มีความชุก 2.8% ของประชากร และแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.4% ในปี 2030 นับเป็นจำนวนคนได้ 171 ล้านคนในปี 2000 และจะกลายเป็น 366 คนในปี 2030 สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้มีคนเป็นเบาหวานมากคือ ประชากรวัยเกิน 60 ปี มีมากขึ้นๆ
เบาหวานเป็นโรคที่มีความผิดปกติของการใช้น้ำตาลกลูโคสในร่างกาย กลูโคสเป็นสารหลักที่ให้พลังงานต่อเซลล์ของร่างกาย โดยปกติฮอร์โมนอินซูลิน (insulin) ช่วยให้น้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อและเซลล์ไขมัน การเป็นเบาหวาน อาจจะเกิดจากการที่ร่างกายผลิตอินซูลินออกมาจากตับอ่อนไม่พอใช้ หรือมีอินซูลินพอแต่ออกฤทธิ์ไม่ได้ดี เมื่ออินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดีหรือไม่พอ จะทำให้น้ำตาลกลูโคสไม่เข้าเซลล์ แต่จะคั่งอยู่ในกระแสเลือด ระดับกลูโคสในเลือดที่มากเกินไป จะทำลายเซลล์ในร่างกาย ทำให้เกิดผลเสียตามมาอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง หลายคนไม่รู้ตัวจนเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้ว
การตรวจยืนยันภาวะเบาหวานที่ง่ายๆ คือการเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลก่อนอาหารเช้า หลังจากอดอาหารข้ามคืนมา ระดับน้ำตาลวัดเป็น มิลลิกรัมต่อเลือด 1 เดซิลิตร (หรือ 100 ซี.ซี.) ถ้าระดับอยู่ระหว่าง 70 และ 109 มก./ดล. ถือว่าปกติ ถ้าระดับมากกว่า 126 มก./ดล. ถือว่าเป็นเบาหวาน ถ้าระดับอยู่ระหว่าง 110 และ 125 มก./ดล. ถือว่าอยู่ในภาวะเกือบเป็นเบาหวาน (ระดับเสี่ยง)
สมาคมเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำว่า ควรตรวจเช็คเบาหวานที่อายุ 45 ปี โดยเฉพาะคนที่อ้วน ถ้าปกติก็ให้ทำซ้ำทุก 3 ปี สำหรับคนที่ตรวจพบน้ำตาลในระดับเสี่ยงให้ตรวจซ้ำทุก 1 ปี
อาการของโรคเบาหวาน เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณรู้ตัว หรือสงสัยว่าตัวเองจะเป็นเบาหวานหรือเปล่า (โดยไม่ต้องรอให้มดมาตอมฉี่แบบสมัยโบราณ) คือ
•
กระหายน้ำมากและฉี่บ่อย เนื่องจากน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น มีฤทธิ์ไปดูดเอาน้ำออกมาจากเซลล์สมอง ทำให้รู้สึกกระหายน้ำ เมื่อดื่มน้ำมากขึ้น จึงปัสสาวะมากขึ้น
•
หิวมาก เมื่อเซลล์ร่างกายขาดน้ำตาล จะทำให้กล้ามเนื้อและอวัยวะของร่างกายขาดพลังงาน จึงรู้สึกหิวมากขึ้นอย่างแรง แม้ว่าเราจะกินอาหารเข้าไปแล้ว ความหิวก็อาจจะยังไม่คลาย
•
น้ำหนักลด เมื่อเซลล์ขาดน้ำตาลขาดพลังงานนานเข้า จะทำให้กล้ามเนื้อและไขมันถูกเผาผลาญ ลดขนาดลง แม้ว่าเราจะกินอาหารมากขึ้นกว่าธรรมดาก็ตาม
•
อ่อนเพลีย เนื่องจากเซลล์ขาดน้ำตาล จึงทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและหงุดหงิด
•
สายตาพร่ามัว เมื่อน้ำตาลในเลือดสูง มันจะดูดน้ำออกจากเนื้อเยื่อของเลนส์และตา ทำให้สายตาพร่าได้
•
แผลหายช้าและติดเชื้อบ่อย เบาหวานทำให้การหายของแผล และการต่อสู้กับเชื้อโรคผิดปกติ ในผู้หญิงการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะและช่องคลอดเกิดขึ้นบ่อย
ถ้าใครมีอาการตามที่กล่าวถึงข้างบนนั้น ก็ควรจะสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคเบาหวาน ควรจะทำการตรวจเช็คเสียให้แน่ใจ คนที่ไม่มีอาการหลายคนก็สงสัยว่า มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้างที่ทำให้ต้องตรวจเช็คเบาหวาน เพื่อจะได้ทำการป้องกันและรักษาโรคเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสุขภาพ
ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวาน
•
ระดับน้ำตาลในเลือด ระหว่าง 110 และ 125 มก./ดล. ถือว่าอยู่ในเกณฑ์เสี่ยง (หรือภาวะก่อนเป็นเบาหวาน)
•
อายุ คนที่อายุเกิน 45 ปี ควรได้รับการตรวจเช็คเบาหวาน
•
มีคนเป็นโรคเบาหวานในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ หรือพี่ น้อง ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานเพิ่มมากขึ้น
•
เชื้อชาติ ในคนบางเชื้อชาติมีอัตราการเกิดเบาหวานมากกว่าเชื้อชาติอื่น เช่น คนผิวดำ คนเชื้อชาติสเปน อเมริกันอินเดียน
•
ออกกำลังน้อย การออกกำลังยิ่งน้อยยิ่งมีความเสี่ยงมาก การออกกำลังกายไม่ว่าจะจากการทำงาน หรือจากการเล่นกีฬา ช่วยควบคุมน้ำหนัก ช่วยให้ร่างกายใช้น้ำตาล ทำให้เซลล์มีความไวต่อการใช้อินซูลิน ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อซึ่งทำให้การใช้กลูโคสดีขึ้น
•
ภาวะน้ำหนักเกินปกติ คนอ้วนเป็นเบาหวานมากกว่าคนผอม
•
เบาหวานตอนท้อง คนที่ตรวจพบเบาหวานตอนท้อง หรือคลอดลูกที่มีน้ำหนักมากกว่า 4 กก. (9 ปอนด์) มีความเสี่ยงต่อเบาหวานมากขึ้น
ถ้าคุณมีความเสี่ยงเหล่านี้ก็ควรจะเช็คเบาหวานโดยการตรวจเลือด
ที่กล่าวมาแล้วส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือ การควบคุมน้ำหนักและการออกกำลังกาย การทำอย่างนั้นได้ สามารถลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานได้อย่างชะงัด จากผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารนิวอิงแลนด์เจอร์นัลออฟเมดิซินเมื่อไม่นาน มานี้ พบว่าเมื่อติดตามผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวนมากกว่า 3,000 รายที่มีน้ำหนักเกินและมีระดับน้ำตาลในเกณฑ์เสี่ยงเป็นเวลานาน 4 ปี คนที่ออกกำลังกายและลดน้ำหนักได้ เป็นเบาหวานน้อยกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกายหรือไม่ลดน้ำหนักถึง 58%
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจจะจบลงด้วยภาวะแทรกซ้อน
•
ภาวะแทรกซ้อนในระยะสั้น คือการเกิดอาการทางสมอง ทำให้หมดสติหรือชัก เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก เช่น เกิน 200 มก./ดล.ควรจะปรึกษาแพทย์ด่วน หรือเกิดจากภาวะสารคีโตนในเลือดเพิ่มสูงขึ้น (ketosis) สารคีโตน เกิดจากการเผาผลาญไขมันออกมาเป็นพลังงาน (เนื่องจากใช้กลูโคสไม่ได้) ซึ่งมักจะเกิดเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก เช่น 250 มก./ดล.
•
ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว
-
โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวานมีฤทธิ์ทำลายหลอดเลือดทั่วไปในร่างกาย เมื่อหลอดเลือดเสียไป การไหลเวียนของเลือดไปสู่อวัยวะต่างๆ ก็เสียไป ทำให้เซลล์ขาดออกซิเจนและสารอาหาร ทำให้เกิดโรคสมองขาดเลือด (อัมพฤกษ์ อัมพาต) หัวใจขาดเลือด จากผลงานวิจัยในปี 2007 พบว่าคนเป็นเบาหวานเป็นโรคสมองขาดเลือด เพิ่มขึ้น 2 เท่า (ภายใน 5 ปีของการรักษาเบาหวาน) ประมาณ 75% ของคนไข้เบาหวาน ตายด้วยโรคของหัวใจหรือหลอดเลือด
-
ความเสียหายต่อเส้นประสาท เบาหวานทำลายหลอดเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงเส้นประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ขา ซึ่งทำให้เกิดอาการชา เจ็บซ่าๆ แสบๆ ที่ปลายนิ้วเท้าหรือนิ้วมือซึ่งค่อยๆ ขยายบริเวณขึ้นบนเรื่อยๆ ถ้าไม่รักษาความรู้สึกของมือเท้าจะเสียไป เกิดผลเสียมาก เช่น ทำให้เกิดแผลที่เท้าได้ เนื่องจากเดินไปเหยียบของร้อนหรือของมีคมแล้วไม่รู้สึกตัว กว่าจะมารักษาก็เกิดเป็นแผลติดเชื้อเสียแล้ว ทำให้การติดเชื้อลุกลามหรือเรื้อรังถึงขนาดต้องเสียขา ถ้าเส้นประสาทของลำไส้เสียการทำงาน คนไข้จะมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียนท้องผูก ท้องเดินได้ นอกจากนี้ ในผู้ชายก็อาจจะเกิดภาวะบกพร่องทางเพศได้ด้วย
-
เบาหวานมีผลต่อหลอดเลือดที่ไต ทำให้ไตเสียการทำงานจนถึงวาย มีผลต่อหลอดเลือดที่จอตา มีผลให้ตาบอด หรือเป็นต้อหิน ต้อกระจกเพิ่มมากขึ้น ผิวหนังและเยื่อบุในปากติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เหงือกก็ติดเชื้อง่ายขึ้น ภาวะกระดูกพรุนก็พบได้มากในคนไข้เบาหวาน โรคอัลไซเมอร์ (สมองเสื่อม) ก็เกิดได้มากขึ้นในคนเป็นเบาหวาน เนื่องหลอดเลือดในสมองเสียหาย เลือดพาออกซิเจนไปเลี้ยงสมองน้อยลง หรือสมองขาดกลูโคสเนื่องจากขาดอินซูลิน
คนไทยสมัยนี้มีอันจะกินมากขึ้น แม้แต่ชาวบ้านตาสีตาสาที่เราเคยคิดเห็นว่าไม่เป็นโรค ก็เกิดโรคเบาหวานมากขึ้น เนื่องจากมีน้ำหนักเกิน การลดน้ำหนักจึงเป็นนโยบายที่ดี ประกอบด้วย การควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย
การควบคุมอาหารมีข้อแนะนำดังนี้
•
สิ่งที่ควร ลด ละ หรือ เลิก ลดจำนวนอาหารที่เคยกิน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมาก เช่น เนื้อสัตว์ ดื่มนมพร่องไขมัน หลีกเลี่ยงอาหารเป็นเภทเนื้อทอด เนื้อกระทะ หลีกเลี่ยงหนังสัตว์ อาหารใส่กระทิ อาหารประเภทผัด อาหารขยะซึ่งส่วนมากเป็นอาหารทอดโรยเกลือ ลดการกินไข่แดง เลิกการกินขนมหวาน ถ้าอดไม่ได้จริง ๆ อาจจะต้องกินขนมที่ใส่น้ำตาลเทียมแทน
•
สิ่งที่ควรกิน กินอาหารประเภทยำ ตำ สลัดน้ำไส เลือกกินผักผลไม้ที่ไม่สุกงอมมากขึ้น ควรกินเนื้อปลาแทนเนื้อสัตว์อื่น ถ้าอดกินเนื้อสัตว์อื่นไม่ได้ควรกินเนื้อต้ม อบ ตุ๋น ปิ้ง ย่าง คั่ว กินอาหารช้าๆ เคี้ยวนานๆ กินอาหารตอนที่ยังไม่ค่อยหิว เช่น หลังออกกำลังมาใหม่ๆ อย่ารอให้หายเหนื่อยจนหิวจัดแล้วกิน
การออกกำลังกาย
ควรเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิคส์ เช่น เต้นแอโรบิคส์ วิ่ง ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ หรือเดินเร็ว สำหรับการเดินเร็ว เป็นสิ่งที่ดีที่เกือบทุกคนทำได้ ทำได้ง่าย ไม่ค่อยบาดเจ็บ แทบจะไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือ ไม่ต้องมีชุดเลิศหรู ใช้รองเท้าหุ้มส้นธรรมดาก็พอ ถ้าให้ดีควรเดินกับเพื่อนเพื่อความเพลิดเพลิน เดินวันละ 40 ถึง 60 นาที อาทิตย์ละ 4 วัน ก็พอเพียงที่จะช่วยลดน้ำหนัก ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดและหัวใจ และถ้าจะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เขาแนะนำให้เดินเร็ววันละ 1 ชั่วโมงทุกวัน
เทคนิคการเดินเร็วที่ผมจะขอแนะนำมี 3 ท่า คือ
1.
ท่าเดินก้าวยาว เหยีดแขนที่ข้อศอกแกว่ง และเดินให้เร็วเต็มที่
2.
ท่าเดินก้าวสั้น งอแขนที่ข้อศอก แล้วแกว่งแขนเร็ว และก้าวขาสั้นๆ เร็วๆ ตามจังหวะแขน
3.
การเดินเหมือนข้อ 2 แต่เวลาก้าวขาให้ฉีกเฉียงออกไปข้างหน้าและด้านข้าง เวลาเดินจึงต้องโยกตะโพกเล็กน้อยเหมือนที่นักเดินเร็วเขาทำกัน
เวลาไปเดินควรใช้ 3 ท่าที่ว่านี้ผสมผสานกันไป จะไม่ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายและเมื่อยขา
เบาหวานเป็นโรคร้ายที่แอบทำลายสุขภาพช้าๆ แต่เราสามารถป้องกันได้ ด้วยการเอาใจใส่ให้ความสำคัญเรื่องอาหาร และการออกกำลังกาย อย่าปล่อยให้สายเกินไปจนภาวะแทรกซ้อนร้ายๆ (เช่น สมองเสื่อม เซ็กส์เสื่อม) เกิดขึ้นกับคุณเสียก่อนแล้วจึงลงมือทำ เข้าทำนอง “ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา” !!!
พล.ต.ต.นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น